5 สาเหตุที่ทำให้ คุณแม่ๆ กลายเป็นแม่ขี้โมโห

สำหรับคุณแม่หลายคน ก่อนมีลูก เราอาจจะไม่เคยคิดเลยว่า เราสามารถเป็นคนขี้โมโห ได้ถึงขนาดนี้เลยในชีวิต แต่ทำไมหนอ เมื่อมีลูก และ เมื่อต้องเลี้ยง ต้องดูแลลูก เรากลับกลายเป็นคุณแม่ขี้โมโหไปได้

วันนี้ เราจะมาลองหาสาเหตุกันค่ะ ว่าทำไมเราถึงโกรธลูกของเรา
เมื่อวิเคราะห์สาเหตุ และ รู้ต้นตอของปัญหาแล้ว เราจะได้หาวิธีการจัดการปัญหากันค่ะ

1. You take things personally : เราเหมาเอาเองว่า การที่ลูกไม่เชื่อฟังเรานั้น เป็นความผิดพลาดส่วนตัวของเรา

เช่น เราบอกให้ลูกทำนั่น ทำนี่ แต่ลูกไม่ได้ทำตามที่เราบอก แล้วเราก็รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อน ในความรั้นของลูก ว่าลูกไม่เคารพนับถือเรา สิ่งสำคัญคือ เราต้องเตือนตัวเองว่าลูกยังเป็นเด็ก และเด็กๆ ทุกคน ต่างมีสัญชาตญาณต้องการให้พ่อแม่พอใจ แต่บางทีพวกเขาก็ไม่รู้วิธี ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร จึงจะดึงดูดความสนใจจากพ่อแม่ได้

ถ้าคุณอารมณ์เสียด้วยสาเหตุนี้ ขอแนะนำให้พยายามสูดหายใจลึกๆ สักหนึ่งนาที หากยังใช้อารมณ์กับลูกต่อไป เราก็คงจะไม่ได้รับความร่วมมือจากเด็กๆ อยู่ดี ขอให้สงบสติอารมณ์ และระลึกว่า การอบรมสั่งสอนเด็กที่ได้ผลดีนั้น ต้องอาศัยความเสมอต้นเสมอปลาย และ ฝึกฝนให้เด็กสามารถสร้างวินัยในตัวเอง ไม่ใช่เกิดจากการยอมทำตามคำสั่งเพราะความกลัว เวลาที่แม่โมโห

2. Your expectations need adjusting : เราจำเป็นต้องปรับความคาดหวัง

มันเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดว่า เราควรคาดหวังจากลูกมากน้อยแค่ไหน เราคงไม่อยากตั้งมาตรฐานที่ต่ำเกินไป หรือสูงเกินไปสำหรับลูกของเรา สิ่งสำคัญคือ เราควรมีความคาดหวังที่สมเหตุสมผล เหมาะสมกับวัยของลูก และ ความคาดหวังนี้ควรจะยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนได้ ตลอดระยะพัฒนาการของลูก

คุณควรคาดหวังให้ลูกเชื่อฟังคุณ แต่ไม่ใช่คาดหวังว่าลูกจะเชื่อฟังคุณ 100%
คุณควรคาดหวังว่าลูกจะแสดงท่าทีและทัศนคติที่ดีกับคุณ แต่อย่าคาดหวังเช่นนั้น ถ้าตัวคุณเองแสดงอาการหัวเสียอยู่ตลอดเวลา

3.You’re empty and need a recharge : เราเหนื่อยล้า และต้องการเติมพลัง

การเป็นแม่ ทำให้เราต้องเสียสละให้ลูก ทั้งเวลา ทั้งความสุขส่วนตัว แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่จำเป็นต้องสูญเสียไปคือ เสียสุขภาพจิต แน่นอนว่า วันทั้งวัน คุณมีเรื่องที่จะต้องทำมากมาย แต่อย่าลืมเจียดเวลาทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง
หากคุณมีแต่จะให้ ให้ ให้ โดยที่ข้างใน คุณหมดเรี่ยวแรง ไม่มีกำลังจะให้อีกแล้ว การให้ของคุณนั้น ก็คงจะไม่จีรังยั่งยืนตลอดไป

หาเวลาอยู่โดยลำพังบ้างในแต่ละวัน อาจจะฝากลูกไว้กับสามี หรือ สมาชิกในครอบครัวคนอื่นบ้าง หรือ พาลูกเข้านอนแต่หัวค่ำ เพื่อคุณจะได้มีเวลาส่วนตัวหลังจากที่ลูกหลับ และถ้ามีโอกาส คุณก็ควรจะหาเวลาไปเที่ยวกับเพื่อนๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์บ้าง หรือ อาจจะลองหางานอดิเรกที่คุณสนใจทำเพื่อความเพลิดเพลินใจ

4.You’ve let things get out of control and need a reset : คุณปล่อยให้สถานการณ์บานปลายไปแล้ว และต้องการจะตั้งต้นใหม่

มันเป็นเรื่องเศร้า แต่เป็นข้อเท็จจริงค่ะ ว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของลูกของเรานั้น ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่
เด็กๆ ทุกคนนั้นมีความปรารถนาที่จะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง และเมื่อเราตามใจลูกเกินไป หรือเข้มงวดกับเขามากเกินไป หรือ ถ้าเราไม่เสมอต้นไม่เสมอปลายกับการบังคับใช้กฏภายในบ้าน เด็กก็จะแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ในแบบที่เราไม่ต้องการ
หากเราคิดว่า สถานการณ์ในบ้านของเราเริ่มบานปลายแล้ว มันยังไม่สายเกินไปที่เราจะกดปุ่มรีเซ็ตค่ะ

เราต้องย้ำอธิบายกฏให้ลูกฟังกันหน่อยแล้วค่ะ แล้วก็ปรับความคาดหวังของเราให้เหมาะสม (ตามข้อ 2) ข้อสำคัญคือ เราจะต้องเสมอต้นเสมอปลาย และบังคับใช้กฏของเราให้มีความศักดิ์สิทธิ์
อธิบายผลให้ลูกได้รับรู้ว่า ถ้าเขาไม่ทำตามกฏข้อนั้น ข้อนี้ จะเกิดอะไรขึ้น มันอาจจะเหนื่อยและยุ่งยากหน่อยนะคะในช่วงแรกๆ แต่ขอให้มองถึงผลในระยะยาว สู้ๆ ค่ะ

5.You’re stressed and need an outlet : คุณกำลังรู้สึกเครียด และต้องการระบายอารมณ์

ถ้าเรามีความเครียดและไม่ได้จัดการความเครียดที่มีอยู่ เราย่อมอารมณ์เสียได้โดยง่าย เราอาจจะหัวเสียแม้แต่กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หากคุณพบว่า นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณโกรธง่าย คุณควรหาทางปลดปล่อยความเครียด เช่น ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก และหากคุณหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา อาจจะหาหนทางกำจัดความโกรธ ด้วยการนั่งสมาธิ ฝึกสติ หรือ พยายามควบคุมขอบเขตของเหตุปัจจัยที่ ทำให้คุณโกรธ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือ เรื่องงาน

คุณอาจจะไม่สามารถควบคุมเหตุปัจจัยต่างๆ ได้ทุกเรื่อง แต่ลูกไม่ควรเป็นที่รองรับอารมณ์ของคุณ บางที คุณอาจจำเป็นต้อง จัดลำดับความสำคัญในชีวิตเสียใหม่ ผ่อนปรนกับตัวเองในเรื่องหน้าที่ ความรับผิดชอบจากงาน และ ใช้ชีวิตให้ช้าลง

มันเป็นเรื่องปรกติค่ะ ที่แม่จะโกรธลูกได้ แต่อย่าลืมว่า เราเป็นต้นแบบคนสำคัญของลูกของเรา และแม้ว่าลูกๆ จำเป็นต้องเข้าใจว่า การกระทำของเขาจะส่งผล ให้เขาอาจต้องได้รับการลงโทษ แต่มันไม่จำเป็นที่เราต้องระเบิดอารมณ์ใส่เขาค่ะ ขอเอาใจช่วยแม่ๆ ทุกคนสำหรับการจัดการกับความโกรธของตัวเองนะคะ

ด้วยรักและปรารถนาดี
แปลและเรียบเรียงโดยครูเก๋ (ภรณี ภูรีสิทธิ์)

Credit Article: http://amotherfarfromhome.com/why-am-i-an-angry-mom/
Credit Picture: www.huffingtonpost.co.uk

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *