สิ่งที่ควรทำ และ ไม่ควรทำ เมื่ออ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง
การอ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน เพียง 5-15 นาที ทำให้สมองของเด็กวัย 3 ปีแรกพัฒนาถึง 70 % นอกจากนี้การอ่านยังเป็นการสร้างจินตนาการที่สำคัญ แถมยังเป็นประตูสู่โลกกว้างสำหรับเจ้าตัวเล็กอีกด้วย แต่อะไรคือสิ่งที่ควรทำ และ ไม่ควรทำ เมื่ออ่านหนังสือให้เด็กๆ ฟัง ไปดูกันเลยค่ะ
สิ่งที่ควรทำ…..
- เริ่มอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่เล็กๆ ยิ่งเริ่มได้เร็ว ยิ่งเกิดประโยชน์ค่ะ
- หนังสือที่เหมาะสำหรับทารกและเด็กวัยเตาะแตะ คือ หนังสือที่มีคำคล้องจอง เนื้อเพลง และ คำพูดซ้ำๆ ที่กระตุ้นทักษะทางภาษา และ การฟัง
- อ่านหนังสือกับเด็กเป็นประจำ เท่าที่เวลาจะอำนวย
- ควรเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือที่มีภาพประกอบ และ มีคำพูดหน้าละไม่กี่คำ และ ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น
- ก่อนอ่านหนังสือทุกครั้ง ควรเอ่ยชื่อผู้แต่ง และ ผู้วาดภาพประกอบ
- เมื่ออ่านหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งเป็นครั้งแรก ควรจะพูดคุยถึงภาพประกอบที่หน้าปก และ ถามเด็กว่า “หนูคิดว่าหนังสือเรื่องนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร”
- อาจจะเลือกอ่านหนังสือที่ยากกว่าระดับความสามารถของเด็ก เป็นบางครั้ง เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของเขา
- ก่อนเริ่มอ่าน ควรให้เวลาเด็กๆ เล็กน้อยให้เตรียมตัวและเตรียมใจให้พร้อมก่อนฟังนิทาน
- อารมณ์ความรู้สึกเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการรับฟังของเด็ก อย่าทำลายบรรยากาศด้วยการออกคำสั่ง
เช่น “เอาหล่ะ หยุดเล่น และ นั่งได้แล้ว”, “นั่งตัวตรง” , “ตั้งใจฟังหน่อย” คำพูดพวกนี้ อาจจะทำให้เด็กไม่อยากฟังเท่าที่ควร - เมื่ออ่านหนังสือภาพให้เด็กฟัง ควรให้เด็กเห็นภาพได้อย่างชัดเจนและทั่วถึง
- สำหรับบางคน การอ่านออกเสียง อาจจะทำไม่ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้น คุณจำเป็นต้องฝึกฝน
- อย่าอ่านเร็วเกินไป ควรอ่านให้ช้าพอที่ เด็กจะสร้างภาพจินตนาการตามไปได้ ขณะที่ฟังเรื่องที่คุณอ่าน
- อย่าเร่งรีบอ่านให้จบ ให้เวลาเด็ก ถ้าเขาตั้งคำถาม หรือ พยายามทวนคำพูดที่เขาได้ยิน
- ก่อนจะอ่านหนังสือให้เด็กฟัง คุณควรจะได้อ่านก่อนสักครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้รู้ว่า ส่วนใดของหนังสือที่คุณจำเป็นต้องย่อให้สั้นลง ตัดทิ้ง หรือ ขยายความ
- หากเป็นไปได้ สร้างประสบการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องที่อ่านด้วย เช่น หากหนังสือมีพูดถึงผลไม้ หรือ ขนม ก็อาจจะให้เด็กได้ชิมผลไม้ หรือ ขนมนั้นๆ ระหว่างการอ่าน หรือ หลังจากที่อ่านจบ
- อาจจะทำบันทึก สำหรับการอ่านแต่ละครั้ง ด้วยการติดสติ๊กเกอร์ ทำเป็นหนอน หรือ รถไฟ เพื่อแสดงให้เด็กได้ทบทวนว่าเราได้อ่านหนังสือกันไปแล้งกี่เล่ม
- เด็กบางคน อาจจะนั่งอยู่ไม่สุข ระหว่างการฟัง คุณอาจจะหากระดาษและดินสอให้เขาขีดเขียน ยุกยิก ในระหว่างการฟังนิทาน
- อาจจะให้เวลาเด็กอ่านหนังสือด้วยตัวเองบ้าง (แม้ว่าเขาจะยังอ่านไม่ออก) นั่นคือ ให้เขาได้ นั่งอ่านหนังสือคนเดียวเงียบๆ ดูรูป และ เปลี่ยนหน้าด้วยตัวเอง
- หากเด็กต้องการจะอ่านหนังสือให้คุณฟัง คุณควรเลือกเล่มที่ง่ายๆ อย่าเลือกเล่มที่ยากเกินไป
- หากมีเด็กที่ต่างวัยกัน ควรคะยั้นคะยอให้เด็กโต อ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟัง
สิ่งที่ไม่ควรทำ…
- อย่าเลือกอ่าน เรื่องที่คุณเองไม่ชื่นชอบ เพราะเด็กจะรู้สึกได้ และมันจะผิดวัตถุประสงค์ในการอ่าน
- ถ้าอ่านไปแล้ว คุณรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่สนุก ไม่เหมาะสม หรือ ไม่สมควรอ่าน ก็ให้เลือกเล่มใหม่ได้ แต่ควรให้เวลาสักเล็กน้อยก่อนจะเปลี่ยนหนังสือ
เพราะหนังสือบางเรื่อง ความสนุกอยู่ที่ตอนท้ายๆ ทางที่ดี คุณควรได้อ่านหนังสือสักรอบก่อนจะ อ่านกับเด็กๆ - อย่าพยายามที่จะต้อง เลือกอ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาการที่เรียนตลอดเวลา
- อย่าเลือกเรื่องที่ยากเกินไป คุณควรแน่ใจว่าเรื่องที่เลือกมาอ่านนั้น เหมาะสมกับสติปัญญา ความสามารถ และความเข้าใจ ของเด็กแต่ละวัย
- อย่านั่งอ่านแบบสบายๆ จนเกินไป การนอน เอกเขนกอ่าน อาจจะทำให้ทั้งผู้อ่าน และ ผู้ฟังง่วงได้
- อย่าพยายามหาความหมาย หรือ ตีความหนังสือแทนผู้ฟังตัวน้อยๆ ของคุณ หนังสือบางเรื่อง อาจจะแค่อ่านเอาสนุก ไม่จำเป็นต้องคิดค้น ว่าเรื่องนี้สอนอะไร
- อย่าสับสนระหว่าง การเลือกอ่านหนังสือให้เยอะเข้าไว้ กับ การเลือกอ่านหนังสือไม่เยอะแต่มีคุณภาพ
- อย่าใช้การอ่านหนังสือ เป็นการข่มขู่เด็ก ให้ทำ หรือ ไม่ทำสิ่งใด หากคุณใช้หนังสือเป็นเครื่องมือ หรือ เป็นอาวุธในการปกครองเด็ก เขาจะมีทัศนคติไม่ดีกับการอ่านตลอดไป
อย่าลืมว่าคุณคือบุคคลสำคัญ ที่มีอิทธิพลต่อการอ่านของลูก การเป็นแบบอย่างของหนอนหนังสือสามารถส่งผ่านไปถึงลูกได้ ผ่านการกระทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกนั่นเองค่ะ
บทความต้นฉบับ: www.teachpreschool.org
แปลและเรียบเรียง โดย ภรณี ภูรีสิทธิ์ (ครูเก๋)